บล็อก
Gen Z และมิลเลนเนียล
ข้อมูลเชิงลึกทางสังคม

ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเห็นอย่างไรกับอนาคตทางการเงินของตน

เขียนเมื่อ:
April 16, 2025
Rachel Lee
Milieu Insight Insight สงกรานต์ 2025

สำหรับผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “การวางแผนการเงิน” ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขในบัญชีเท่านั้น แต่ยังเป็นการวางแผนชีวิตที่เชื่อมโยงไปกับวัฒนธรรม สภาพเศรษฐกิจ และช่วงวัยของแต่ละคนอีกด้วย และล่าสุด Milieu Insight ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้คนกว่า 3,000 คนจาก 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพื่อศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมการวางแผนทางการเงิน ว่าอะไรเป็นแรงผลักดันและความกังวล รวมไปถึงเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร

การวางแผนเพื่อสมดุลระหว่างการเอาตัวรอดในปัจจุบัน และความมั่นคงในอนาคต

เมื่อพูดถึงเป้าหมายทางการเงินอันดับต้น ๆ ของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าครึ่งตอบว่าต้องการมีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เป้าหมายนี้สะท้อนความต้องการความมั่นคงในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ตามมาด้วยความฝันที่จะได้เกษียณอย่างสบายใจ และอันดับสามคือการมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งยังคงเป็นความหวังของใครหลายคน แม้ราคาที่อยู่อาศัยจะสูงขึ้นและรูปแบบการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปมากก็ตาม

เป้าหมายเหล่านี้ช่วยฉายภาพภูมิภาคที่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางของการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งจำเป็นในวันนี้กับแผนชีวิตในวันข้างหน้า ในจุดที่การเอาตัวรอด ความมั่นคง และความสำเร็จในชีวิตมาบรรจบกัน

ความหมายของ “ความฉลาดทางการเงิน”

เมื่อพูดถึง “ความฉลาดทางการเงิน” เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามให้นิยามว่า คือการหลีกเลี่ยงหนี้ที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยอย่างเบบี้บูมเมอร์ที่ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้ง และมักมีความระมัดระวังที่มากกว่า ในขณะที่คนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ดูจะกังวลเรื่องหนี้น้อยลง และกล้าเปิดรับการลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงมากขึ้น เช่น คริปโตเคอร์เรนซีหรือ NFT

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดเรื่องความเสี่ยงจะแตกต่างกัน แต่เมื่อลงลึกถึงประเภทการลงทุน กลับพบว่าคนทุกช่วงวัยยังคงให้ความสนใจกับสินทรัพย์แบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นทองคำ หุ้นรายตัว หรือพันธบัตรและเงินฝากประจำ สะท้อนว่าต่อให้คนรุ่นใหม่จะพร้อมลองอะไรที่เสี่ยงและแปลกใหม่ แต่เสถียรภาพและความมั่นคงในการลงทุนก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่เคยมลายหายไป

สิงคโปร์: มั่นคงแต่ไม่เสี่ยง

หนึ่งในจุดที่น่าสนใจจากการสำรวจ คือชาวสิงคโปร์มีแนวโน้มวางแผนการเงินอย่างรอบคอบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน คนสิงคโปร์น้อยกว่าหนึ่งในสามนิยาม “การมีวินัยทางการเงิน” ว่าคือการมีรายได้หลายทาง และมีเพียง 8% เท่านั้นที่ระบุว่า “การเริ่มต้นธุรกิจ” คือหนึ่งในเป้าหมายทางการเงินหลักของตน ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคอย่างชัดเจน

สิ่งนี้สะท้อนถึงค่านิยมด้าน “ความมั่นคง” ที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมของสิงคโปร์ และอาจชี้ให้เห็นว่าผู้คนที่นั่นมักเลือกใช้แนวทางที่รอบคอบมากกว่าในการรับมือกับความเสี่ยงทางการเงิน

ความมั่นใจที่มาพร้อมความกังวล

หนึ่งในอินไซต์ที่ชวนคิดที่สุดจากการสำรวจครั้งนี้ คือช่องว่างระหว่าง “ความรู้สึก” กับ “ความเป็นจริง” ทางด้านการเงิน แม้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จะรู้สึกมั่นใจกับสถานะการเงินของตัวเอง แต่เมื่อถามถึงความมั่นคงทางการเงิน กลับมีเพียงส่วนน้อยที่รู้สึกว่าอยู่ในจุดนั้น และจำนวนน้อยลงไปอีกที่บอกว่าตนเอง “มีอิสรภาพทางการเงิน” แล้วอย่างแท้จริง

มีเพียง 17% ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ระบุว่าตนเองมีอิสรภาพทางการเงินในช่วงเวลาที่ทำการสำรวจ ขณะที่ 35% คาดว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ความต่างนี้ชัดเจนขึ้นเมื่อดูตามรุ่นอายุ—แทบ 40% ของกลุ่ม Baby Boomers บอกว่าตนบรรลุอิสรภาพทางการเงินแล้ว ในขณะที่ Gen Z มีเพียง 14% เท่านั้น

เมื่อเจาะลึกไปที่แต่ละประเทศ จะเห็นภาพที่น่าสนใจยิ่งขึ้น อย่างในอินโดนีเซีย 1 ใน 4 ของ Gen Z ระบุว่าตนมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว ส่วนในเวียดนาม เกือบครึ่งของผู้ตอบเชื่อว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ภายใน 5 ปี

มองให้ลึงลงไป ในไทยและเวียดนาม

แม้จะอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน แต่ระดับความเครียดทางการเงินของแต่ละประเทศกลับไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ประเทศไทยและเวียดนามเป็นสองประเทศที่มีสัดส่วน Gen Z รู้สึกว่าตนเอง “มั่นคงทางการเงิน” ต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยมีเพียง 34% ในไทย และ 32% ในเวียดนามเท่านั้น

แต่ปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่เท่านั้น แม้ Gen X มักถูกมองว่าเป็น “แรงขับเคลื่อนหลักของตลาดแรงงาน” แต่ผลสำรวจพบว่า Gen X ในไทยกลับมีความมั่นคงทางการเงินต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาค โดยมีน้อยกว่าครึ่งที่รู้สึกว่าตนเองมีความมั่นคง และน่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ Gen X ชาวไทยยังรายงานว่าตนมี “ความเครียดทางการเงิน” สูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศที่ทำการสำรวจ

เมื่อรุ่นต่อรุ่น ต้องปรับตัวกับเส้นทางทางการเงินที่เปลี่ยนไป

ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการด้านความรู้สึกทางการเงินที่เปลี่ยนไปตามวัย กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุมากกว่ามีแนวโน้มจะรู้สึกมั่นใจ มั่นคง และมีความเครียดน้อยกว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “ความมั่นคง” มักจะมาพร้อมกับประสบการณ์และเวลา ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นแรงกดดันที่ถาโถมเข้าหาคนรุ่นใหม่ที่ต้องเดินบนเส้นทางการเงินที่ซับซ้อนขึ้น โดยมีตัวช่วยน้อยลง

แม้แนวทางและมุมมองของแต่ละเจเนอเรชันจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกวัยมีเหมือนกันคือ “ความปรารถนาในความมั่นคง ความเป็นอิสระ และอนาคตที่ดีกว่า” ไม่ว่าจะเป็นการออมแบบระมัดระวัง หรือการลงทุนแบบกล้าคิดกล้าทำ คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายทางการเงินที่ให้ทั้ง “อิสรภาพ” และ “ความรับผิดชอบ” ไปพร้อมกัน

บทสรุป: แม้เส้นทางจะแตกต่าง แต่เป้าหมายยังคงเหมือนกัน

แม้แนวคิด วิธีการ และความพร้อมทางการเงินจะแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคและช่วงวัย แต่หัวใจของการวางแผนทางการเงินในภูมิภาคนี้ยังคงเหมือนเดิม นั่นก็คือ ความมั่นคง อิสรภาพ และอนาคตที่มั่นใจได้ ไม่ว่าจะเลือกวิธีการออมแบบดั้งเดิม หรือการลงทุนแบบมีความเสี่ยง คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างกำลังพยายามสร้างชีวิตที่มี “อิสรภาพ” ทางการเงินในแบบของตนเองให้เกิดขึ้น

Milieu เป็นผู้นำด้านซอฟต์แวร์ Online survey และ Market research จากสิงคโปร์ ที่ช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ด้วยเทคนิคการทำ Sampling ที่มีประสิทธิภาพ ติดตาม กลยุทธ์แบบ Data-driven พร้อมอัปเดตงานวิจัย และ Insight ล่าสุดจากทีมผู้เชี่ยวชาญของเราได้เลยที่นี่

พร้อมที่จะยกระดับเกมเชิงลึกของคุณหรือไม่?

Take the first step towards data-driven excellence.
Contact Milieu today.
ขอบคุณเราจะติดต่อกันเร็ว ๆ นี้!
อ๊ะ!มีบางอย่างผิดปกติขณะส่งแบบฟอร์ม
Contact us
__wf_สงวน_มรดก__wf_สงวน_มรดก