บล็อก
ข้อมูลเชิงลึกทางสังคม
สถานการณ์ปัจจุบัน

คนสิงคโปร์สะท้อนความรู้สึกหลังผลการเลือกตั้ง GE2025

เขียนเมื่อ:
May 21, 2025
Rachel Lee
Milieu Insight Insight สงกรานต์ 2025

คนสิงคโปร์สะท้อนความรู้สึกหลังผลการเลือกตั้ง GE2025

สำหรับคนไทยที่ติดตามการเมืองในภูมิภาค อาจคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของสิงคโปร์ว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพและพรรคการเมืองหลักครองอำนาจต่อเนื่องมายาวนาน แต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2025 (GE2025) กลับเผยให้เห็นความรู้สึกหลากหลายของประชาชน ทั้งความหวัง ความเหนื่อยล้า และความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลง อารมณ์เหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่พรมแดนประเทศหนึ่ง หากแต่สะท้อนแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในหลายสังคม รวมถึงไทยด้วย บทสำรวจของ Milieu Insight จึงไม่ใช่แค่รายงานผลเลือกตั้ง แต่คือภาพสะท้อนของ “ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับการเมือง” ที่อาจพูดถึงเราได้มากกว่าที่คิด

แม้การเลือกตั้งทั่วไปของสิงคโปร์ในปี 2025 (GE2025) จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่สำหรับชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อย การสนทนาเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งนั้น เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

ขณะที่ตัวเลขผลโหวตและจำนวนที่นั่งในรัฐสภา อาจครองพื้นที่สื่อหลักในสิงคโปร์ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่มีอีกสิ่งสิ่งที่ไม่ค่อยได้พูดถึงคือ ความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชน พวกเขารู้สึกอย่างไรกับผลการเลือกตั้ง อะไรคือแรงผลักดันที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกลงคะแนน และชาวสิงคโปร์มีความเชื่อมั่นต่อรัฐสภาชุดใหม่มากน้อยแค่ไหน?

Milieu Insight ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวสิงคโปร์กว่า 1,000 คนหลังเลือกตั้ง เสนอภาพสะท้อนที่หาได้ยากเกี่ยวกับความคิดและความรู้สึกของประชาชนจากทุกช่วงวัย

มุมมองต่อผลการเลือกตั้ง ภาพสะท้อนความรู้สึกของประชาชน

คำถามแรกคือ “คุณรู้สึกอย่างไรกับผลการเลือกตั้ง GE (General Election - การเลือกตั้งทั่วไป) 2025?” 

เพียง 37% ของผู้ตอบรู้สึกในเชิงบวก โดยผู้สูงวัย (อายุ 55 ปีขึ้นไป) รู้สึกในเชิงบวกมากกว่าเฉลี่ย (44%) ขณะที่คนรุ่นใหม่อายุ 16–24 ปี และ 25–34 ปี กลับรู้สึกในแง่ลบมากกว่า (49% และ 48% ตามลำดับ) โดยรวมแล้ว 41% ระบุว่ารู้สึกเป็นกลาง ไม่โน้มเอียงทางใดทางหนึ่ง

เมื่อเจาะลึกถึงอารมณ์เฉพาะเจาะจง พบว่า

  • 20% รู้สึกยินดี
  • 16% รู้สึกมีความหวัง
  • 22% รู้สึกผิดหวัง
  • 9% ไม่แน่ใจ
  • เพียง 6% เท่านั้นที่รู้สึกมีพลัง

กลุ่มวัย 16–24 ปีโดดเด่นที่สุดในแง่ของความรู้สึกที่หลากหลาย เป็นกลุ่มที่รู้สึกไม่แน่ใจ (17%), หงุดหงิด (11%), เหนื่อยล้า (12%) หรือเฉยชา (14%) มากกว่ากลุ่มอื่น

อะไรคือแรงจูงใจเบื้องหลังการลงคะแนนเสียง?

แม้ GE2025 จะกระตุ้นอารมณ์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ปัจจัยที่แท้จริงที่มีผลต่อการตัดสินใจก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

ปัจจัยอันดับหนึ่งที่ผู้ตอบกล่าวถึงคือ นโยบายที่มีเหตุผลและชัดเจน (36%) โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น (46% ในกลุ่ม 16–24 ปี และ 43% ในกลุ่ม 25–34 ปี) ขณะที่ เสถียรภาพท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ก็เป็นแรงจูงใจสำคัญ (35%) โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป (43%)

แรงจูงใจอื่น ๆ ได้แก่

  • ความต้องการให้รัฐสภามีประสิทธิภาพมากขึ้น (34%)
  • ความสามารถของพรรคในการดูแลเขตเลือกตั้ง (32%)
  • ความต้องการให้รัฐสภามีความหลากหลายมากขึ้น (33%) สะท้อนความคาดหวังต่อการถ่วงดุลและความโปร่งใสในระบบการเมือง

น่าสนใจว่า มีเพียง 14% เท่านั้นที่ระบุว่า “การเลือกตั้งครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง” เป็นปัจจัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าผู้นำอาจไม่ได้มีอิทธิพลมากเท่าที่คาด

แม้จำนวนสมาชิกฝ่ายค้านจะยังอยู่ที่ 10 คนเหมือนเดิม แต่มีเพียง 24% ที่บอกว่า “ผลจากฝ่ายค้าน” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจ คะแนนเสียงครั้งนี้จึงดูเหมือนจะขึ้นกับ ข้อเสนอที่จับต้องได้ มากกว่า ภาพลักษณ์หรือการเมืองเชิงสัญลักษณ์

ผลลัพธ์เป็นไปตามคาดหรือไม่?

พรรค People's Action Party (PAP) เพิ่มสัดส่วนคะแนนเสียงจาก 61% ในปี 2020 เป็น 65% ใน GE2025 — แต่ผู้คนรู้สึกแปลกใจแค่ไหน?

  • 61% บอกว่า “คาดไว้แล้ว” ว่าผลจะเป็นเช่นนี้
  • ขณะที่ 1 ใน 3 รู้สึก “ไม่ค่อยคาดหวังไว้”
  • และ 7% ระบุว่า “ไม่คาดหวังเลย”

ในส่วนของจำนวนสมาชิกฝ่ายค้านที่ยังคงเท่าเดิม (10 คน) ผู้ตอบ 63% มองว่า “คาดไว้อยู่แล้ว” แต่ 30% ยังรู้สึกแปลกใจเล็กน้อย สะท้อนว่าบางคนอาจหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้

ที่น่าจับตามองคือ จำนวนพรรคฝ่ายค้านลดลงจาก 2 พรรคในปี 2020 เหลือเพียงพรรคเดียวในปีนี้ ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 (36%) มองว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่ค่อยคาดคิด” และ 11% “ไม่คาดหวังเลย” โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกประหลาดใจมากกว่ากลุ่มอื่น

ความพึงพอใจและความกังวลใจ

เมื่อถามถึงความพึงพอใจโดยรวมต่อการเลือกตั้ง GE2025

  • มีเพียง 11% ที่ “พึงพอใจมาก”
  • อีก 24% “พึงพอใจพอประมาณ”
  • แต่กลุ่มใหญ่ที่สุด (42%) ตอบว่า “รู้สึกเป็นกลาง”
  • และ 23% แสดงออกถึงความไม่พอใจในระดับต่าง ๆ

กลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่พึงพอใจมากที่สุด (15% พึงพอใจมาก, 30% พึงพอใจพอประมาณ) ในขณะที่กลุ่มอายุ 16–24 ปีเป็นกลุ่มที่รู้สึกพึงพอใจน้อยที่สุด (เพียง 5% ที่ระบุว่าพึงพอใจมาก)

ความเชื่อมั่นต่อรัฐสภาชุดใหม่

แม้รัฐสภาชุดใหม่จะเริ่มทำงานแล้ว แต่ระดับความมั่นใจของประชาชนยังไม่เป็นเอกฉันท์ โดยข้อมูลของเราแสดงให้เห็นว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรู้สึก หวัง แต่ ยังไม่มั่นใจเต็มร้อย ว่าปัญหาสำคัญระดับชาติจะถูกแก้ไขอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพหรือไม่

ความเชื่อมั่นต่อรัฐสภาในการจัดการกับประเด็นต่าง ๆ

  • ค่าครองชีพ เพียง 30% ที่มั่นใจว่าจะมีการบรรเทาค่าครองชีพอย่างได้ผล ถือว่าต่ำที่สุดในทุกประเด็น
  • ที่อยู่อาศัย 34% รู้สึกเชื่อมั่นว่านโยบายจะทำให้บ้านมีราคาจับต้องได้และเข้าถึงง่ายขึ้น
  • ค่ารักษาพยาบาล 48% มั่นใจว่ารัฐจะจัดการกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การสร้างความปรองดองทางการเมือง 38% มั่นใจว่ารัฐสภาจะสามารถเชื่อมรอยร้าวทางการเมืองได้
  • การรับมือกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ 48% เชื่อมั่นว่าสิงคโปร์จะสามารถจัดการกับความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ได้

แม้ตัวเลขเหล่านี้จะไม่ได้สะท้อนความไม่ไว้วางใจโดยตรง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังจับตาดูอยู่ และคาดหวังอย่างจริงจังว่า รัฐบาลต้องไม่เพียงแต่รับฟัง แต่ต้องลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม

มองไปข้างหน้า

GE2025 ได้สร้างคลื่นอารมณ์หลากหลาย ตั้งแต่ความหวัง ความผิดหวัง ความภาคภูมิใจ ไปจนถึงความไม่พอใจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากช่องว่างทางเจเนอเรชันที่ชัดเจนในมุมมองและความคาดหวังของประชาชน คนรุ่นใหม่ดูเหมือนจะมีความรู้สึกเบื่อหน่าย สับสน และสงสัยต่อโครงสร้างการเมืองปัจจุบัน ในขณะที่ผู้สูงวัยยังคงมีความหวังและความพึงพอใจมากกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้ว การตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับอิทธิพลจากนโยบายที่ดี ความมั่นคง และความสามารถในการดูแลเขตเลือกตั้ง มากกว่าการชูภาพลักษณ์ของพรรคหรือความมีเสน่ห์ของผู้นำ

และที่สำคัญที่สุด ประชาชนกำลังเฝ้าดูอยู่ ความคาดหวังนั้นสูง แต่ความรู้สึกลังเลก็ยังมีอยู่เช่นกัน ว่าผู้มีอำนาจจะสามารถตอบสนองต่อช่วงเวลานี้ได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองของสิงคโปร์ในอนาคต

สำหรับผู้อ่านชาวไทย บทสะท้อนจากการเลือกตั้งของสิงคโปร์อาจเป็นมากกว่าแค่เรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค แต่นี่คือสัญญาณที่ชวนให้กลับมามองตัวเราเองเช่นกัน ว่าเรากำลังสร้างระบบที่ “ฟังประชาชน” ได้จริงหรือไม่ ทั้งในแง่ของนโยบาย ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ในขณะที่คนสิงคโปร์แสดงออกถึงความหวัง ความเหนื่อยล้า และความไม่แน่ใจหลังเลือกตั้ง คนไทยเองก็กำลังเผชิญความรู้สึกหลากหลายคล้ายกัน คำถามสำคัญอาจไม่ใช่แค่ว่าใครชนะเลือกตั้ง แต่คือ “ประชาชนรู้สึกอย่างไรกับผลลัพธ์นั้น” และ “ระบบที่มีอยู่ตอบสนองต่อเสียงของพวกเขาเพียงพอหรือยัง”

Milieu เป็นผู้นำด้านซอฟต์แวร์ Online survey และ Market research จากสิงคโปร์ ที่ช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ติดตามกลยุทธ์แบบ Data-driven พร้อมอัปเดตงานวิจัย และ Insight ล่าสุดจากทีมผู้เชี่ยวชาญของเราได้เลยที่นี่

Rachel Lee
Author
Rachel Lee

พร้อมที่จะยกระดับเกมเชิงลึกของคุณหรือไม่?

Take the first step towards data-driven excellence.
Contact Milieu today.
ขอบคุณเราจะติดต่อกันเร็ว ๆ นี้!
อ๊ะ!มีบางอย่างผิดปกติขณะส่งแบบฟอร์ม
Contact us
__wf_สงวน_มรดก__wf_สงวน_มรดก